เชื่อว่าชั่วโมงนี้หลายๆ ท่านคงได้ยินคำว่า โซล่าฟาร์มตามสื่อต่างๆ มากมายทั้งของรัฐและเอกชน โดยหลังจากที่เกิดปัญหาภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ก็มีกระแสการวิจารณ์เกิดขึ้นว่าพลังงานในโลกอาจจะเริ่มขาดแคลนลง ทำให้การลงทุนในเรื่องพลังงานทางเลือกได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งในส่วนของการลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และในส่วนของภาคเอกชนที่เริ่มเห็นช่องทางการลงทุนในพลังงานทางเลือกมากขึ้น ถึงแม้จะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ในระยะเริ่มต้น แต่ก็มีธนาคารพาณิชย์พร้อมที่จะสนับสนุนในเรื่องเงินทุน เพราะการที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์และวิจัย ทำให้รู้ถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่สามารถแก้ไขได้ ทำให้ธุรกิจพลังงานทางเลือกยังมีช่องทางที่ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก
โซล่าฟาร์ม คืออะไร?
ระบบโซล่าฟาร์ม SOLAR FARM system หรือที่เรียกว่า โรงงานผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ Photovoltaic power station เป็นระบบเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (PV) ที่ออกแบบมาสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจำนวนมากๆ ระดับเมกะวัตต์ MW อุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและมี แนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดที่ใช้ไม่มีวันหมดและเป็นการผลิตที่มีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ และเป็นพลังงานทางเลือกที่ใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิลอย่างนํ้ามันและก๊าซ ธรรมชาติ และถ่านหินซึ่งนับวันจะร่อยหรอหมดไป
ที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ในเขตศูนย์เส้นสูตร ทำให้มีช่วงเวลาในการรับแสงอาทิตย์ตลอดทั้งปีอย่างมากมาย โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ได้รับแสงอาทิตย์เฉลี่ยวันละประมาณ 5 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตร ซึ่งสูงกว่าประเทศทางแถบยุโรปที่มีค่าเฉลี่ยเพียงวันละ 3-4 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อตารางเมตร จึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับธุรกิจโซลาร์ฟาร์มเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ภาครัฐจะส่งเสริมอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบ Feed in Tariff (FIT) เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยมีอัตรา FIT ในช่วงปีที่ 1-3 ในอัตรา 9.75 บาทต่อหน่วย ในช่วงปีที่ 4-10 ในอัตรา 6.5 บาทต่อหน่วย และในช่วงปีที่ 11-25 ในอัตรา 4.5 บาทต่อหน่วย จะช่วยให้โครงการมีผลตอบแทนที่น่าพอใจ และสถาบันการเงินของรัฐพร้อมที่จะให้เงินสนับสนุน อย่างไรก็ตาม แต่ภาครัฐควรส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นในการพัฒนาและขยายการลงทุน เพราะไม่เช่นนั้น โครงการจะต้องมีการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศเกือบทั้งหมด เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน น่าจะเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำมาใช้ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดของพลังงานทดแทนในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี และการบริหารการจัดการต้นทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเพื่อให้ธุรกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนสามารถดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ ศักยภาพของธุรกิจพลังงานทดแทนจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับแนวโน้มพลังงานในตลาดโลก โดยเฉพาะพลังงานฟอสซิล และการจัดการทรัพยากรเพื่อใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ ยังคงเป็นแนวทางที่สำคัญที่ต้องดำเนินควบคู่กันไปเพื่อสร้างความสมดุลและความยั่งยืนของการใช้พลังงาน
Leave A Comment